ปฏิทิน

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

วิถีชีวิต

วิถีชีวิต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่สำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักข้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน หนอง" เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า
หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น

ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน

ในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนอีสานมักเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพ ซึ่งมีองค์ประกอบทั่วไปดังนี้
1. แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่หรือห้วย หรือ ลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝนส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาเลี้ยงสัตว์ ได้ในบางฤดูเท่านั้น
ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า "เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า" เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ
2. บริเวณที่ดอนเป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วนคำว่า "โคก ดอน โพน และโนน" เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ
3. บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดง ป่า และเหล่า" เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ
4. บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นต้น
5. บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะสามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตาตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว
ความเชื่อในการตั้งหมู่บ้าน
การเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งหมู่บ้านในภาคอีสานจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องเลือกทำเลที่ประกอบด้วย
1. น้ำ เพื่อการยังชีพและประกอบการเกษตรกรรม
2. นา เพื่อการปลูกข้าว (ข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก
3. โนน เพื่อการสร้างบ้านแปงเมือง ที่น้ำท่วมไม่ถึง
ส่วนคติความเชื่อของชาวอีสานในการดำเนินชีวิต ชาวอีสานมี ความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษกล่าวคือ ความเชื่อในอำนาจลี้ลับที่เหนือธรรมชาติ และเชื่อในการครองเรือน การทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งใดที่โบราณห้ามว่าเป็นโทษ และเป็นความเดือดร้อนมาให้ก็จะละเว้นและไม่ยอมทำสิ่งนั้น
สำหรับความเชื่อในการตั้งหมู่บ้านก็ไม่ต่างกันนัก ชาวอีสานมีการนับถือ"ผีบ้าน" และแถนหรือ "ผีฟ้า"มีการเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาลูกหลาน มีการตั้ง "ศาลเจ้าปู่" ไว้ที่ดอนปู่ตา ซึ่งมีชัยภูมิเป็นโคก น้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม้ใหญ่หนาทึบ มีการก่อสร้าง "ตูบ" เป็นที่สถิตของเจ้าปู่ทั้งหลาย ตลอดจนการตั้ง "บือบ้าน"(หลักบ้าน)เพื่อเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน และมีการเซ่น "ผีอาฮัก" คือเทพารักษ์ให้ดูแลคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป
พิธีเลี้ยง "ผีปู่ตา" จะกระทำในเดือน 7 คำว่า "ปู่ตา" หมายถึงญาติฝ่ายพ่อ(ปู่-ย่า)และญาติฝ่ายแม่(ตา-ยาย)ซึ่งทั้งสี่คนนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นที่เคารพของลูกหลาน ครั้นเมื่อตายไปจึงปลูกหอหรือที่ชาวอีสานเรียก"ตูบ" มักใช้เสา
4 ต้น หลังคาจั่วพื้นสูง โดยเลือกเอาสถานที่เป็นดงใกล้บ้านมีต้นไม้ใหญ่และสัตว์ป่านานาชนิดเรียกว่า"ดงปู่ตา" ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธ์ ใครไปรุกล้ำตัดต้นไม้หรือล่าสัตว์ไม่ได้ หรือแม้แต่แสดงวาจาหยาบคายก็ไม่ได้ ปู่ตาจะลงโทษกระทำให้เจ็บหัวปวดท้อง
และเมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีคนล้มตายผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวอีสานถือกันว่า"หลักเหงี่ยงหงวย" ต้องทำพิธีตอกหลักบ้านใหม่ให้เที่ยงตรง มีการสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ เซ่นสรวงเทพยาดาอารักษ์ แล้วหาหลักไม้แก่นมาปักใหม่ ซึ่งต้องมีคาถาหรือยันต์ใส่พร้อมกับสวดญัตติเสาก่อนเอาลงดินในบริเวณกลางบ้าน ทั้งนี้เพราะชาวอีสานมีความเชื่อในการตั้ง "หลักบ้าน" เพราะหลักบ้านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผังชุมชนระดับหมู่บ้าน และเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน เมื่อชุมชนเติบโตขึ้น "หลักบ้าน" ก็พัฒนาไปสู่"หลักเมือง" ดังที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
หลักบ้านมักสร้างด้วยไม้มงคล เช่น ไม้คูน ไม้ยอ มีทั้งหลักประธานหลักเดี่ยวและมีพร้อมหลักบริวารรายล้อม ส่วนรูปแบบของหลักบ้านนั้น มักควั่นหัวไม้เป็นเสาทรงบัวตูมหยาบ ๆ บางแห่งก็ถากให้เป็นปลายแหลมแล้วทำหยัก"เอวขัน"ไว้ส่วนล่าง

ความเชื่อในการสร้างเรือนอีสาน

อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ ๆ จะสร้างเรือนก่อน โดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่าลาดเอียงไปทางทิศใดและจะเป็นมงคลหรือไม่ ดังนี้
1. พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"
2. พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"
3. พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"
4. พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นมิดี เป็น ไข้ พยาธิฮ้อนใจ
เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง,ข้าวเหนียวดำ 1 กระทงและข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไป วางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน
ถ้ากากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดีถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมากถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้ เสร็จเร็วไวการเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดินโดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษ ๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง
หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุขมีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืนมีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องกลิ่นของดินอีกด้วย โดยการขุดดินลึกราว 1 ศอก เอาดินขึ้นมาดมกลิ่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าดินมีกลิ่นหอม ถือว่าดินนั้นอุดมดี เป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าดินมีกลิ่นเย็น กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ถือว่าดินนั้นไม่ดี ใครปลูกสร้างบ้านอยู่เป็นอัปมงคล
การดูพื้นที่ก่อนการสร้างเรือน ชาวอีสานแต่โบราณถือกันมากแต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยยังใช้คติเดิมแต่มีการเลี่ยงหรือแก้เคล็ด เช่น การชิมดิน หากเป็นรสเค็มหรือเปรี้ยวก็แก้เคล็ดโดยการบอกว่าจืด ส่วนการดมกลิ่นดิน หากมีกลิ่นเหม็นคาวก็จะบอกเอาเคล็ดว่าหอม เป็นต้นฤกษ์ยามในการปลูกเรือน

ฤกษ์เดือน

1. เดือนเจียง (เดือนอ้าย) นาคนั้นนอนหลับหากปลูกเรือนอยู่มักตาย
2. เดือนยี่ นาคนอนตื่น ปลูกเรือนอยู่ดี
3. เดือนสาม นาคหากินทางเหนือ มิดี อยู่ฮ้อนไฟจักไหม้
4. เดือนสี่ นาคหากินอยู่เรือน ปลูกเรือนอยู่ดีเป็นมงคล
5. เดือนห้า นาคพ่ายครุฑหนี ปลูกเรือนร้อนนอกร้อนใจ มิดี
6. เดือนหก จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มิตรสหายมาก
7. เดือนเจ็ด นาคพ่ายหนี จักได้พรากจากเรือนมิดี
8. เดือนแปด นาคเห็นครุฑ จักได้เสียของมิรู้แล้ว
9. เดือนเก้า นาคประดับตน ปลูกเรือนมีข้าวของกินมิรู้หมด 10. เดือนสิบ นาคถอดเครื่องประดับ ปลูกเรือนเข็ญใจ และคนในเรือนมักเจ็บ ไข้ตาย
11. เดือนสิบเอ็ด จะเกิดทุกข์ภัยอันตรายต่าง ๆ มักจะมีคนฟ้องร้องกล่าวหา จัก มีโทษทัณฑ์
12. เดือนสิบสอง จะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของ และคนใช้ดีหลีแล

ฤกษ์วัน
1. วันอาทิตย์ ปลูกเรือนจะเกิดทุกข์อุบาทว์
2. วันจันทร์ ทำแล้ว 2 เดือนจะได้ลาภผ้าผ่อนและของขาวเหลือง เป็นที่พึงพอใจ
3. วันอังคาร ทำแล้ว 3 วันไฟจะไหม้หรือเจ็บไข้
4. วันพุธ ปลูกเรือนจะได้ลาภเครื่องอุปโภคมีผ้าผ่อน เป็นต้น
5. วันพฤหัสบดี ปลูกเรือนจะเกิดสุขสบายใจ ทำแล้ว 5 เดือนจะได้โชคลาภมากมาย
6. วันศุกร์ ปลูกเรือนจะมีความทุกข์และความสุขก้ำกึ่งกัน ทำแล้ว 3 เดือน จะได้ลาภ เล็กน้อย
7. วันเสาร์ ปลูกเรือนจะเกิดพยาธิ หรือเลือดตกยางออก ทำแล้ว 4 เดือนจะลำบาก ห้ามไม่ให้ทำแล

ลักษณะเรือนไทยอีสาน

คำว่า “บ้าน “ กับ “เฮือน” (ความหมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของ ชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ เฮือน” นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ
นอกจากคำว่า “เฮือน “ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ
คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้
ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข
บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน
นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน
อย่างไรก็ตามการจัดวางแผงผังของห้องและองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรือนไทยอีสานมีดังนี้
1. เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก (ตามตะวัน) ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า “ เรือนสามห้อง” ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1.1 ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชายมักไม่กั้นห้องด้านหัวนอนมีหิ้งประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา เช่น เครื่องราง ของขลัง เป็นต้น
1.2 ห้องพ่อ-แม่อาจกั้นเป็นห้องหรือบางทีก็ปล่อยโล่ง
1.3 ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิดหากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ซึ่ง ชาวอีสานเรียกว่า” ห้องส่วม”
ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีกกล่าวคือ กั้นเป็นคอกวัวควาย ตั้งแคร่นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และทำหัตถกรรมจักรสานถักทอของสมาชิกในครอบครัวเก็บอุปกรณ์การทำนาทำไร่ เช่น จอบ เสียม คราด ตลอดจนเกวียน เป็นต้น
2. เกย (ชานโล่งมีหลังคาคลุม) เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก ที่รับประทานอาหาร และใช้เป็นที่หลับนอนของลูกชายและแขกเหรื่อที่กลับมาจากงานบุญในตอนค่ำคืนส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เป็นที่เก็บฟืนหรือสิ่งของที่ไม่ใหญ่โตนัก
3. เรือนแฝด เป็นเรือนตรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอน ในกรณีที่พื้นทั้งสองหลังเสมอกันโครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมามากกว่าเรือนนอนก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
4. เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แตกต่างจากเรือนแฝดตรงที่ โครงสร้างของเรือนโข่ง จะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน
การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัว ชั่วคราวได้
5. เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสามีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
6. ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี “ฮ้างแอ่งน้ำ” (ร้านหม้อน้ำ) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี “ชานมน” ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ เพื่อใช้เป็นที่ล้างภาชนะตั้งโอ่งน้ำและวางกระบะปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ
รูปแบบของเรือนไทยอีสาน
รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย เพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
1. ประเภทชั่วคราว หรือใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ “เถียงนา” หรือ”เถียงไร่” ส่วนใหญ่จะ ยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับ ในกรณีที่ไร่นาอยู่ไม่ไกลจากเรือนพักสามารถไปกลับได้ภายในวันเดียวจะไม่นิยมกั้นฝา หากต้องค้างคืนก็มักกั้นฝาด้วย “แถบตอง” คือสานไม้ไผ่เป็นตารางขนาบใบต้นเหียงหรือ ใบต้นพวง ซึ่งจะทนทายอยู่ราว 1-2 ปี
2. ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนักชาวอีสานเรียกว่า ”เรือนเหย้า” หรือ “เฮือนย้าว” เป็นการเริ่มต้นชีวิตการครองเรือน และค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบไป สู่การมีเรือนถาวรในที่สุด
ผู้ที่จะมี” เรือนเหย้า” นี้จะเป็นเขยของบ้านที่เริ่มแยกตัวออกไปจากเรือนใหญ่( เรือนพ่อแม่)
เพราะในแง่ความเชื่อของชาวอีสาน เรือนหลังเดียวไม่ควรให้ครอบครัวของพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ่านหลังหนึ่ง ๆ ควรมีเขยเดียวเท่านั้นหากมีเขยมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันถือว่าจะเกิด “ ขะลำ” หรือสิ่งอัปมงคล
เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ “ เรือนเครื่องผูก” หรือเป็นแบบผสมของ “เรือนเครื่องสับ” ก็ได้
เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
2.1 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด”ตูบต่อเล้า” เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือนมีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไปด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็น ตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง ตรงส่วนที่เป็น “ตูบต่อเล้า” นี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นของพ่อแม่ต่อไป
2.2 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งต่อดิน” เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกัน “ตูบต่อเล้า” แต่จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อยกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตร นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า “ดั้งต่อดิน” เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสาน ที่หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่
วิธีสร้าง “ดั้งต่อดิน” มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามักมุงด้วยหลังคาทีกรองเป็นตับแล้วเรียกว่า “ไฟหญ้า” หรือใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่
ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตองโดยใช้ใบกุงหรือใบชาดามาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายขัดหรือลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง โดยใช่ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกันแผ่นกระดารขยับเลื่อน
2.3 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งตั้งคาน” ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูกมีความแตกต่างจากเรือน”ดั้งต่อดิน” ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไป ถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท “ดั้งต่อดิน”
3. ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “เรือนเครื่องสับ” สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้างประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิดดังนี้
3.1 ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วเสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
3.2 ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
3.3 ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประพกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ

แหล่งที่มาของข้อมูล

1. http://www.mv.ac.th/~thaiwisdom/activities6_3.htm
2. http://mblog.manager.co.th/uploads/145/images/isan.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Copyright 2009 piromkraipak. Powered by Blogger
Blogger Templates created by Deluxe Templates
Wordpress by Wpthemesfree